ห่วงนกพิราบล้นเมือง ทั่วปท.ไม่ต่ำ 10 ล้านตัว สกปรก-นำโรค-ดื้อด้าน-ตายยาก

ห่วงนกพิราบล้นเมือง ทั่วปท.ไม่ต่ำ 10 ล้านตัว สกปรก-นำโรค-ดื้อด้าน-ตายยาก

“นกพิราบ” ยึดเมือง โบยบินวนเวียนละลานตาละแวก สนามหลวงเป็นภาพที่เห็นชินตา ในอดีตผ่านมาอย่างไรในวันนี้ก็ยังเห็นอยู่ เพียงแต่หลบหลีกอยู่ในที่ที่ยังมีอ

สนามหลวงเป็นภาพที่เห็นชินตา ในอดีตผ่านมาอย่างไรในวันนี้ก็ยังเห็นอยู่ เพียงแต่หลบหลีกอยู่ในที่ที่ยังมีอาหารให้กินเท่านั้น

สุ้มเสียงจากผู้มีประสบการณ์ขายของอยู่ในบริเวณนั้นมานานนม บอกว่า แพร่พันธุ์เร็วมากน้อยอย่างไร ก็เห็นบินมาไม่เคยขาด ตัวก็เท่านี้ เมื่อก่อนเยอะกว่านี้อีก

จุดสังเกตใหญ่น่าจะอยู่ที่หน้าศาลฎีกา เลยศาลหลักเมืองไปหน่อย แล้วก็…อยู่กันที่สวนหย่อมบริเวณหัวมุมด้านวัดพระแก้ว ประชากรนกพิราบหนาตา คะเนกันว่าน่าจะมีนับพันตัวเห็นจะได้ เหตุผลสำคัญเป็นเพราะว่าที่นี่มีผู้คนแวะเวียนมาให้อาหารอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวผู้ใจบุญหลายเชื้อชาติภาษา

ใครที่พลาดหวัง มาถึงสนามหลวงแล้ว ไม่เห็นก็ตามไปดูได้ที่เสาชิงช้า อีกจุดสำคัญที่มีนกพิราบเยอะแน่นอน บริเวณนั้นมีที่เกาะ และก็มีคนให้อาหารอยู่เนืองๆ มีของกินไม่เคยขาด

จุดสำคัญ “นกพิราบ” หนาแน่น ด้วยเหตุผลเดียว มีของกิน มีคนให้อาหาร เมื่อครั้งเจ้าหน้าที่จับไปก็ไม่ใช่เยอะ ความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ ไม่ได้จับไปมากสักเท่าไหร่

“นกพิราบ ฉลาดนะ ถิ่นที่เคยหากินหาอยู่…ถูกจับไปปล่อยไกลๆ ด้วยสัญชาตญาณนกสื่อสาร ก็บินกลับมาได้ ยิ่งถิ่นอาศัยดั้งเดิมอย่างนี้ คงยากที่จะปราบให้หมดไป”

ย้ายไปอยู่ลานเสาชิงช้าก็บินไปทั่ว วัดระฆังฯ วัดอรุณฯ…ก็มี แน่นอนว่า อาคารบ้านเรือนละแวกนี้ มีนกพิราบเข้ามาทำรังอาศัยอยู่แน่นอน ถึงเวลาหากินก็บินออกมา

เรียกว่า “รังนอน” กับ “พื้นที่หากิน” อยู่คนละที่กันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถิ่นมันก็ไม่ไปไหน จับกันมากี่ยุคกี่สมัยแล้ว เดี๋ยวก็มาก็อยู่กันอย่างนี้ ที่กลัวโรค นกพิราบเป็นตัวแพร่เชื้อ ก็มีเจ้าหน้าที่แวะเวียนมาเจาะสุ่มตรวจอยู่เรื่อยๆ ตรวจแล้วก็ไม่พบอะไรผิดปกติ ไม่มีเชื้อโรค

แต่ถ้าไม่มีเรื่องไม่เป็นข่าว ก็อยู่กันไปอย่างนี้แหละ “คนกับนก”…“นกกับคน”

“คนให้อาหาร…มีคนเลี้ยงเยอะ บินกันว่อนไปหมด เห็นทีจะปราบยาก…บางตัวถูกด้ายพัน นิ้วเสีย นิ้วขาดเน่าเห็นก็สงสารเข้าไปช่วยตัดให้อยู่บ่อยๆ กินก็ไม่อิ่ม ไม่เคี้ยว กินเอาๆ บางตัวปากล่างพิการก็ลำบาก ต้องไปป้อน…คนขายอาหารนกก็ทำมาหากินเป็นวัฏจักรวนเวียนอย่างที่เห็นๆกันทุกวัน”

รศ.น.สพ.ดร.จตุพร กระจายศรี คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดประเด็น นกพิราบยึดบ้านยึดเมือง…“The flying dead”…ภัยคุกคามอันนึงที่มาทางอากาศ

ให้รู้เอาไว้ก่อนว่า นกพิราบ (rock pigeon) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Columba livia นกพิราบจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ “นกพิราบเลี้ยง”…ซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม เป็นนกแฟนซี นกพวกนี้จะมีสีสันที่หลากหลายกันไปตั้งแต่สีขาว ฟ้า น้ำตาล เทา จนถึงสีดำ

“สีเหล่านี้ก็อาจคละเคล้ากันไปบ้าง ตามแต่การคัดเลือกสีสันของผู้เลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงนกพิราบไว้เพื่อการบริโภคอีกด้วย โดยนกพิราบเหล่านี้จะมีสีสันไม่สวยงามแต่จะมีขนาดตัวที่ใหญ่ มีกล้ามเนื้อมาก เป็นนกพิราบเนื้อที่บริโภคกันตามภัตตาคารต่างๆ”

นกพิราบอีกประเภทนึงคือ “นกพิราบป่า” มักจะอาศัยอยู่ตามทุ่งนาป่าเขา เชิงขอบหน้าผาที่มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารตามธรรมชาติ นกพิราบเหล่านี้จะมีสีสันไม่สวยงาม

คือมีขนสีเทา หรือสีเทาอ่อน และมีแถบสีดำแซมตามปีก เป็นนกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีน้ำหนักตัวตอนโตเต็มที่ประมาณ 300-600 กรัม

“ตัวผู้” จะมีขนาดใหญ่กว่า “ตัวเมีย” เล็กน้อย ถ้ามองจากสีขนแล้วจะมีสีสันที่คล้ายกันจนไม่สามารถแยกได้ว่าสีไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ทั้งตัวผู้และตัวเมีย

จะเริ่มมีความสมบูรณ์พันธุ์และทำรัง แล้วผสมพันธุ์กันได้ตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 เดือน โดยส่วนมากออกไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง จากนั้นตัวเมียก็จะกกไข่ไปอีกประมาณ 18-20 วัน

ส่วนตัวผู้จะออกไปหาอาหารกลับมาช่วยเลี้ยงดู หลังจากไข่ถูกฟักออกมา ลูกนกจะเริ่มหัดบินเมื่ออายุได้ 30-40 วัน ดังนั้นแม่นกจึงสามารถผสมพันธุ์ ออกไข่ได้เกือบทุกๆ 2 เดือน ตลอดทั้งปี และมีอายุขัยในธรรมชาติได้ถึง 6 ถึง 10 ปี…นกตัวเมียตัวนึงจึงแพร่พันธุ์ให้ลูกหลานเหลนโหลน ได้ถึงประมาณ 70-180 ตัว ตลอดอายุขัย

“นกพิราบป่าเหล่านี้จะมีความสามารถในการบินที่ดี ทั้งการบินไกล บินสูง บินโฉบ บินวนฉวัดเฉวียน เพื่อหลบหลีกจากนกนักล่าที่ตัวใหญ่กว่า ด้วยความสามารถในการบินที่ดีประกอบกับแหล่งน้ำแหล่งอาหารตามธรรมชาติลดน้อยลงจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของพื้นที่ป่า ภาวะโลกร้อนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้เจ้านกพิราบป่านี่แหละหนีจากทุ่งนาป่าเขา เข้ามาอยู่อาศัย…ยึดเมืองเป็นแหล่งที่อยู่ถาวร”

ดร.จตุพร บอกว่า ในเมืองมีที่หลบภัยตามซอกมุมของอาคารบ้านเรือน มีเศษอาหารเหลือๆมากมายอากาศอบอุ่น ทำให้เหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ ปัจจุบันนกพิราบจึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคาดกันว่า…มีนกพิราบอยู่เป็นล้านถึงหลายล้านตัวอาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ๆ

สำหรับในประเทศไทยนกพิราบได้ก่อปัญหาสร้างความรำคาญเดือดร้อน ถ่ายมูลสร้างความสกปรกไว้ให้ตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ วัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ฯลฯ

มูลนกพิราบนอกจากจะสร้างความสกปรกดูไม่เจริญหูเจริญตาแล้ว ยังทำให้สิ่งก่อสร้างโบราณสถาน เกิดการผุกร่อนเสียหายด้วย และยังมีเชื้อโรคต่างๆที่สามารถติดต่อมาถึงคนได้อีกต่างหาก”

นกพิราบที่ไม่มีการเลี้ยงดูเหล่านี้จึงถือว่าเป็นนกที่สามารถนำโรคสัตว์มาสู่คนได้ ซึ่งนอกจากมูลแล้วการจับสัมผัสกับนกพิราบโดยตรงก็สามารถรับเชื้อโรคสัตว์สู่คนนี้ได้ โรคที่สำคัญๆ เช่น โรคสมองอักเสบจากเชื้อรา โรคไข้หวัดนกจากเชื้อไวรัส โรค Q fever (โรคไข้คิว)…ทำให้ปอดอักเสบ โรคท้องเสียจากเชื้อโปรโตซัว หรือแม้กระทั่งอาการแพ้ผื่นคันจากหมัดที่ติดมาตามตัวนก ที่สำคัญ ผู้คนไม่น้อยยังมีความเครียดที่เกิดจากการสร้างความรำคาญของนก

ปัจจุบันจึงมีการใช้วิธีการต่างๆในการควบคุมปริมาณนกพิราบและป้องกันอาคารบ้านเรือน เช่น การใช้เสียงดัง ใช้โมบายรูปเหยี่ยวไล่นก ใช้ตาข่าย หรือเหล็กแหลมติดตั้งไว้ป้องกันนกเข้ามาทำรังหรือบินมาเกาะ แม้กระทั่งการใช้มาตรการอื่นๆที่หนักเบาแตกต่างกันออกไปในการที่จะควบคุมปริมาณนกพิราบ

ทว่า…มาตรการต่างๆที่กล่าวมานี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาได้น้อยอีกด้วย ที่ควรจะเป็นการแก้ปัญหานกพิราบยึดเมืองที่ต้นเหตุ บูรณาการ และยั่งยืน ควรกำจัดแหล่งอาหารที่มาจากการให้อาหารของประชาชนตามสถานที่เปิด ที่สาธารณะต่างๆ

พร้อมๆไปกับให้ความรู้กับประชาชนถึงโทษภัยที่มาจากนกพิราบ ร่วมกับให้ประชาชนช่วยกันดูแลอาคารบ้านเรือนให้ดี…อย่าให้นกพิราบเข้ามาอยู่อาศัย แพร่พันธุ์ได้

สุดท้าย…ภาครัฐอาจต้องเข้ามาสนับสนุนศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวงจรชีวิตนกพิราบอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมปริมาณของนกไม่ให้มากเกินไป จนเกิดปัญหาสุขภาพ

นกพิราบยึดเมือง…เป็นมหันตภัยจากฟ้าที่ประมาทไม่ได้.

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/630268

สนใจสั่งซื้อ ผลิตภัณ์กำจัดนกพิราบ เจลไล่นกพิราบ หนามกันนกพิราบ