พบในไทย! ไวรัสซิกา Zika ติดต่อทางยุง อาการคล้ายไข้เลือดออก
ขณะนี้ ได้เกิดข่าวแพร่สะพัดเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสซิกา Zika ซึ่งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค หรือ ซีดีซี ยืนยันกรณีการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในไต้หวันเป็นครั้งแรก และถือเป็นการติดเชื้อครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระทรวงสาธารณสุขในไต้หวัน ยืนยันว่าชายไทยวัย 24 ปี ที่เดินทางมายัง ‘ไทเป’ ได้รับเชื้อไวรัสซิกา หลังจากที่ผู้ป่วยรายนี้ ถูกตรวจพบเชื้อบางอย่าง ที่สถานีตรวจคัดกรองไข้ สนามบินนานาชาติเถาหยวน และเมื่อทดสอบเชื้อดังกล่าว ที่ห้องปฏิบัติการ ซีดีซีในไต้หวันแล้ว พบว่า เชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อ ‘ไวรัสซิกา’จริง ซึ่งขณะนี้ เขาถูกส่งตัวไปที่ห้องสังเกตการณ์ และรับการรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นแล้ว
ส่วนทางด้าน สหรัฐฯ ประกาศคำเตือนไปยังประชาชนว่า หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปยังบราซิล รวมถึงประเทศอื่นๆ ในลาติน อเมริกา และแคริบเบียน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมียุงลายบ้านเป็นพาหะ
ส่วนประเทศที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศบราซิล ที่มีการพบเด็กทารกเกิดมามีศีรษะขนาดเล็กผิดปกติ โดยมีสาเหตุมาจากมารดาที่ได้รับเชื้อไวรัสซิกา ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 เป็นต้นมา มีเด็กแรกเกิด มีศีรษะขนาดเล็กจำนวนเพิ่มเป็น 3,893 รายแล้ว ทั้งยังได้คร่าชีวิตเด็กทารกในบราซิลไปแล้ว 5 ราย และมีเด็กที่เสียชีวิตในกรณีที่น่าสงสัยอีกหลายราย
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ควรหลีกเลี่ยงเดินทางในช่วงนี้ คือ บราซิล โคลัมเบีย เอลซัลวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส มาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาเม เวเนซุเอลา และเครือรัฐเปอร์โตริโก
ไวรัสซิก้า (Zika) เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่นเดียวกับไข้เลือดออก และชิกุนคุนยา ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง และมีความคล้ายคลึงกับไข้เลือดออก หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะเชื้อจะมีระยะฟักตัว 4-7 วันในมนุษย์ อาจมีอาการ เป็นผื่น และปวดข้อรวมถึงปวดศีรษะ
ประเทศที่เคยมีการแพร่ระบาด และยังคงระบาดของเชื้อ ‘ไวรัสซิกา’
Image: CDC
โดยผลกระทบของผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสดังกล่าว สามารถส่งต่อจากมารดา ส่งต่อไปสู่บุตรในครรภ์ได้ เมื่อติดเชื้อไวรัสซิก้าแล้ว ควรพักผ่อนให้มากขึ้นดื่มน้ำมากๆ ป้องกันอาการขาดน้ำ ควรทานยาพาราเซตามอล ไม่ควรทานยากลุ่มแอสไพริน เนื่องจากเชื้อไวรัสซิก้า จัดอยู่ในกลุ่มประเภทของอาการไข้ที่แสดงอาการผื่นแดงเหมือนไข้เลือดออก อาจส่งผลกระทบต่อระบบโลหิตได้
ขณะนี้ ไวรัสซิกา เป็นโรคติดต่อที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ได้แต่รักษาตามอาการเช่นเดียวกับไข้เลือดออก การป้องกันคืออย่าให้โดนยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เป็นวิธีที่ดีที่สุด
เฟซบุ๊คเพจ “ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว” โพสอธิบายถึงเชื้อไวรัส Zika ที่พบการติดเชื้อในประเทศเปอร์โตริโก้ว่า สามารถติดต่อได้ผ่านยุงลาย คล้ายไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิกุนกุนยา) ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการ เช่น มีไข้ มีผื่นขึ้นตามตัว ตาแดง ปวดข้อ
ความรุนแรงของโรคนี้ ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่หลังพบการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ในบราซิล พบว่าเด็กที่เกิดขึ้นมาภายหลังศีรษะมีขนาดเล็กลงจำนวนมาก จึงสงสัยกันว่าเชื้อไวรัสตัวนี้อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ หากมารดาเป็นผู้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ เมื่อปี 2557 พบนักท่องเที่ยวที่มาติดเชื้อนี้จากไทยไปคนหนึ่ง ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าเชื้อไวรัสนี้สามารถพบในไทยได้ จังหวัดที่เคยพบผู้ติดเชื้อ Zika คือ ลำพูน เพชรบูรณ์ ศรีษะเกศ ราชบุรี สมุทรสาคร กระบี่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ
แต่ถึงกระนั้น สามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ง่ายๆ เพียงระวังไม่ให้โดนยุงกัดค่ะ
ไข้ซิก้า, ไวรัสซิกา คืออะไร? พร้อมลักษณะอาการและการป้องกัน
ในช่วงนี้มีข่าวที่พูดถึงเกี่ยวกับโรคไข้ซิกา ซึ่งเกิดจากไวรัสซิกา ทำให้หลายคนกังวลใจและอยากทราบถึงที่มา,สาเหตุ,อาการ รวมทั้งแนวทางการป้องกันโรคนี้ ทาง Zcooby จึงขอนำข้อมูลดีๆ มาฝากกันนะครับ
ไวรัสซิก้า คืออะไร?
ไข้ ซิกา (Zika Fever) เกิดจาการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus-ZIKV) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ได้รับเชื้อจะมีอาการ ไข้อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดหลัง และปวดข้อ และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ
ไวรัสซิกาเป็นไวรัสที่มาสาร พันธุกรรมชนิด อาร์เอ็นเอสายเดี่ยว อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสตไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบ
ที่มาของไวรัสซิกา
ไวรัสซิกาถูกแยกเชื้อเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2490 จากน้ำเหลืองของลิง rhesus ที่ใช้ในการศึกษาไข้เหลืองในป่าที่ชื่อว่า ซิกา ประเทศยูกันดา และแยกเชื้อได้จากคนในปี พ.ศ. 2511 ที่ประเทศไนจีเรีย
อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา
ไวรัสซิกา มีระยะฟักตัว 4-7 วัน ผู้ติดเชื้อนั้นจะมีอาการดังนี้
- เป็นไข้
- ปวดศรีษะรุนแรง,วิงเวียน
- มีผื่นแบบ maculopapular ขึ้นบริเวณลำตัว แขนขา
- เยื่อบุตาอักเสบ,ตาแดง
- อาจจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตและอุจจาระร่วง
การตรวจเพื่อหาเชื้อไข้ซิกา
ทางห้องปฏิบัติการสามารถตรวจหาการติดเชื้อได้ 2 วิธีคือ
- การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีพีซีอาร์ โดยเป็นการเก็บตัวอย่างน้ำเหลืองอย่างเร็วที่สุดหลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเจ็บป่วย (ไม่เกิน 9 วันหลังมีอาการ)
- การตรวจหาแอนตี้บอดี้ชนิดเอ็มที่จำเพาะต่อไวรัสซิกาด้วยวิธีอิไลซ่า โดยเก็บตัวอย่าง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเก็บในวันที่เริ่มมีอาการ และครั้งที่สองนั้นจะห่างจากครั้งแรก 2-3 สัปดาห์
วิธีการรักษาโรคไข้ซิกา
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ การรักษาจะทำการรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาความเจ็บป่วย
ไวรัส Zika อาละวาด
โลกตื่นเต้นกับการระบาดของไวรัสชื่อ Zika เนื่องจากทำความเสียหายได้มากมายต่อสุขภาพ และทำให้พ่อแม่ต้องร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด ขณะนี้ยังไม่ระบาดในเอเชียและส่วนอื่น ๆ ของโลก นอกจากตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้โดยเฉพาะบราซิลซึ่งประสบปัญหาหนักหน่วง แต่ก็คาดว่าน่าจะระบาดไปทั่วโลกในระดับหนึ่งในสถานที่ซึ่งยุงลายสามารถอาศัย อยู่ได้
ชื่อ Zika มาจากชื่อป่าในอูกันดาซึ่งพบการติดไวรัสนี้ ในลิงในปี 1947 และสามารถแยกไวรัสตัวนี้ออกมาได้ในปี 1952 และพบการติดเชื้อในมนุษย์ในปี 1954 ในไนจีเรีย ระหว่างปีนั้นถึงปี 2007 พบประมาณ 14-15 รายของการติดเชื้อไวรัส Zika ในคนในบริเวณอาฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์พลิกผันในปี 2007 เมื่อพบหนึ่งกรณีในเกาะเล็กแห่งหนึ่งในทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งสร้างความงุนงงเนื่องจากอยู่ไกลออกไปมาก แต่ที่มึนยิ่งกว่านั้นก็คือเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส Zika ในบราซิลในกลางปี 2015
น่าเห็นใจชาวบราซิลที่กีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นในปี 2016 ในเดือนสิงหาคม ถ้าหากควบคุมไม่อยู่อาจมีผลกระทบต่อการจัดซึ่งได้ลงทุนไปมหาศาลแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเห็นใจก็คือบริษัท TATA ของอินเดียซึ่งกำลังจะเปิดตัวรถยนต์ขนาดกะทัดรัดที่มีชื่อว่า Zica ในเร็ว ๆ นี้ การมีชื่อพ้องอย่างไม่ส่งเสริมการขายนั้นเกิดขึ้นเสมอ เช่น โทรศัพท์รุ่น Lumia ของ Nokia ก็ขายไม่ได้ดีในสเปนเพราะ Lumia เป็นคำแสลงในภาษาสเปน หมายถึง “หญิงบริการ” หรือพริกไทยดำยี่ห้อ Shito ในกานาขายไม่ดีในประเทศอื่น
คนติดเชื้อไวรัส Zika ก็เพราะยุงลาย (มีชื่อสายพันธุ์ทางชีววิทยาว่า Aedes หนึ่งในสายพันธุ์นี้ที่ร้ายกาจคือ Aedes Aegypti) เป็นพาหะ เมื่อกัดคนที่มีเชื้อ Zika และไปกัดคนอื่นๆก็จะพลอยติดเชื้อไปด้วย การฟักตัวของเชื้อก็ประมาณ 2-7 วัน อาการไม่รุนแรงของการปวดหัว มีไข้ มีผื่น ปวดข้อ หรือตาแดงอาจปรากฏแล้วก็หายไป
ถ้าเป็นผู้หญิงท้องที่เป็นเหยื่อยุงลายซึ่งมักกัดในเวลากลางวันก็จะเกิด ผลร้ายอย่างยิ่งเนื่องจากมีทางโน้มที่เด็กเกิดมาจะมีสมองเล็กผิดปกติ (microcephaly) ซึ่งก็คือการผิดปกติทางสมอง เมื่อเด็กเติบโตขึ้นร้อยละ 15 เท่านั้นที่สมองทำงานด้านการคิดได้เป็นปกติ ส่วนใหญ่จะพิการ เช่น เดินไม่ได้ ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ เป็นลมชัก พิการทางสายตา ฯลฯ หากรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
องค์การอนามัยโลกสงสัยความเชื่อมโยงระหว่าง Zika กับ Microcephaly อย่างยิ่งดังที่กำลังเกิดในบราซิล ตั้งแต่ตุลาคม 2015 ถึงปัจจุบันมีกรณีเด็กสมองเล็กดังกล่าว 4,000 ราย ซึ่งสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ในบริเวณที่ Zika ระบาดหนัก เช่น Recife ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีกรณีสมองเล็กถึง 300 ราย ในเวลาเพียง 6 เดือน เทียบกับ 5 รายต่อปีก่อนหน้านี้
ถ้าหากเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่ไม่ท้อง หากได้รับเชื้อ Zika ก็มีโอกาสประสบกับภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง พิการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ หรือเป็นเดือนจึงจะกลับมาเป็นปกติ อาการเหล่านี้เรียกว่า “Guillain-Barré Syndrome (GBS)” ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเซลล์ประสาทอันเนื่องมาจากได้รับไวรัส Zika ในร่างกาย
ล่าสุดแพทย์สงสัยว่า Zika อาจติดกันผ่านเพศสัมพันธ์ หรือผ่านจากแม่สู่ลูกขณะคลอด หรือผ่านยุงพันธุ์อื่นด้วย อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสงสัย แต่ที่ชัดเจนก็คือยุงร้ายกว่าเสืออย่างแน่นอน
ยุงลายเป็นพาหะนำเชื้ออย่างต่ำ 3 อย่างคือเชื้อไข้เลือดออก(Dengue) เชื้อไข้เหลือง (Yellow Fever) และเชื้อ Zika วัคซีนไข้เหลืองนั่นมีแล้ว ไข้เลือดออกกำลังทดลอง ส่วน Zika ยังอยู่ในขั้นต้น คาดว่าอาจเริ่มทดลองได้ประมาณปลายปี 2016
ยุงลายน่ากลัวเพราะปรับตัวได้ดี สามารถอาศัยในเมืองที่มีเลือดคนสาระพัดหน้าเป็นอาหาร ไข่ได้ทุกที่ที่มีน้ำไม่ว่าจะเป็นโอ่ง ไห กระป๋อง หรือแม้แต่แจกันดอกไม้ ในบ้านเรายุงลายเติบโตได้เป็นอย่างดีและอยู่อย่างมีความสุข
วงวิชาการสงสัยว่า Zika มาถึงบราซิลได้อย่างไรในปี 2015 บางคนสันนิษฐานว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 ที่บราซิลอาจเป็นสาเหตุ เนื่องจากมีคนมาจากทุกมุมโลกนับหมื่นนับแสนคน อาจมีคนที่มีเชื้อ Zika เดินทางมาและถูกยุงลายกัด และแพร่ระบาดออกไป
ข้อสันนิษฐานนี้ทำให้เกิดความหวาดหวั่นในมุมกลับว่าใน อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีคนนับหมื่นนับแสนเดินทางมาบราซิลเพื่อการแข่งขัน กีฬาโอลิมปิก หากรับเชื้อ Zikaไป ก็จะนำกลับไปบ้านของตนเอง และถ้ามียุงลายอาศัยอยู่ก็อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดทั่วโลกได้
นักระบาดวิทยาคาดว่าในประชากรจำนวน 205 ล้านคนของบราซิล จะมีคนติดเชื้อ Zika ประมาณ 500,000-1,500,000 คนเมื่อสิ้นปี 2016 และสำหรับทวีปอเมริกาใต้ทั้งหมดตัวเลขจะเป็น 3-4 ล้านคน ขณะนี้มีการระบาดของ Zika ใน 20 ประเทศโดยที่มีนอกทวีปอเมริกาใต้คือ Cape Verve ในอาฟริกา และซามัวในมหาสมุทรปาซิฟิก ในเอเชียนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจน
ทวีปอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกาและคานาดานั้นก็เชื่อว่า Zika จะระบาดไปถึงยกเว้นคานาดาซึ่งหนาวเกินกว่าที่ยุงลายอาศัยอยู่ได้ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็หนีไม่รอด Zika จะมาเยือนเพียงแต่จะรุนแรงหรือไม่เท่านั้น เหตุที่มั่นใจเช่นนี้ก็เพราะการเป็นโลกไร้พรมแดน การเดินทางไปมาถึงกันทุกวันอย่างสะดวกในราคาถูกทำให้ Zika ไปมาถึงกันได้อย่างง่ายดาย ผ่านการทำงานของเจ้ายุงลาย
WHO ให้คำแนะนำในการป้องกันพิษจาก Zika ได้อย่างน่ารักมากว่า (1) คนท้องไม่ควรเดินทางไปในบริเวณที่ Zika ระบาด (2) ในบริเวณที่ Zika ระบาดนั้นควรใคร่ควรญให้ดีก่อนท้อง (3) ระวังอย่าให้ยุงลายกัด โดยการหลีกเลี่ยงบริเวณที่ยุงลายอาศัยอยู่ (4) ใส่เสื้อผ้าหนาปิดมิดชิด และทายาป้องกันยุงกัด
Zika น่ากลัวเพราะทำให้เด็กในท้องพิการ และทำให้เป็น GBS เคลื่อนไหวไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังไม่พบที่เสียชีวิตโดยตรงจาก Zika การป้องกันก็ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงยุงลาย (ก็ไม่มีใครอยากเจอมันหรอก แต่มันอยากเจอเรา) และถ้ากลัวลูกพิการจาก Zika ก็หลีกเลี่ยงการท้อง (ฟังดูแปลก แต่ถูกต้องแบบกำปั้นทุบดิน)
เราไม่ควรแตกตื่นกับ Zika ควรมีสติต่อสู้กับมัน (คงคล้ายกับกรณีของไวรัส Sika หรือสีกากับสงฆ์) โดยการช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านเราเพราะอาจนำมาซึ่งเชื้อ Zika ในยามที่มันมาถึงบ้านเรา และอาจนำมาซึ่งโรคไข้เลือดออกซึ่งมาอยู่ในบ้านเรานานแล้ว
“วัคซีน Zika ชั่วคราว” ในอนาคตอันใกล้ก็คือการระมัดระวังตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดซึ่งก็คล้ายกับ “วัคซีนชีวิตถาวร” ซึ่งได้แก่การระมัดระวัง ประคับประคองชีวิตอย่างไม่ประมาทกระมัง
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 9 ก.พ. 2559