โดย ปรียานุช สายสุพรรณ์
|
รู้เท่าทันอันตราย…การใช้สารเคมีกำจัดแมลงในบ้าน
หนู แมลงสาป หรือแมลงต่าง ๆ อีกหลายชนิดที่เราไม่พึงประสงค์ที่จะให้เข้ามาอยู่อาศัยในบ้านร่วมกับเรา เนื่องจากแมลงต่าง ๆ เหล่านี้นำมา
ซึ่งพาหะของเชื้อโรคทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และทำให้มีอาการเจ็บป่วย จนบางครั้งมีอาการผิดปกติกับร่างกายและ
ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อโรคเหล่านั้น หากจะมองในอีกมุมคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนบางครั้งต้องยอมรับสภาพกับ
แมลงต่างๆ เหล่านั้น แต่เราในฐานะผู้อาศัยอยู่ในบ้านคงต้องหาวิธีการที่จะทำให้แมลงอาศัยอยู่ ในบ้านเราให้น้อยที่สุด เช่น ต้องทำความสะอาด
บ้านเรือนอยู่เสมอ นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นทางเลือกของใครหลายๆ คนในการกำจัดแมลงในบ้านคือการใช้สารเคมีกำจัด
แมลง
ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวกและให้ผลรวดเร็ว นอกจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงกับ
ผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังมีการใช้สารเหล่านี้ในบ้านพักอาศัยกันเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้กำจัดแมลงในบ้านเรือน รวมทั้งในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิต
ได้มีการเติมสารต่างๆ เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ กลิ่นหอมต่างๆ ลงไปในสารเคมีกำจัดแมลง จนทำให้ลืมไปว่าสารเคมีเหล่านี้คือสารพิษที่เป็น
อันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน ทำให้การใช้สารเคมีกำจัดแมลงดังกล่าวไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดอันตรายต่อ สุขภาพ ดังนั้น จึงควร
ศึกษาผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ วิธีการใช้ที่ถูกต้องรวมทั้งศึกษาพิษของสารเคมีดังกล่าว
หมายเหตุ สารเคมีกำจัดแมลงต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกำจัดแมลงเท่านั้น
สารสำคัญในสารเคมีกำจัดแมลง
1. สารกลุ่มออร์การ์โนคลอรีน (Organochlorine) เป็นสารกำจัดแมลงที่มีพิษค่อนข้างสูง สลายตัวได้ยาก ทำให้เกิดการตกค้างใน
สิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน ซึ่งหลายประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ห้ามใช้สารในกลุ่มนี้ เช่น คลอเดน (chlordane) พบในยากำจัดปลวก
และลินเดน (lindane) พบในยากำจัดเหา
2. สารกลุ่มออร์การ์โนฟอสเฟต (Organophosphate) เป็นสารกำจัดแมลงที่สามารถออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลงได้ดี มีประสิทธิภาพ
สูง และมีข้อดีกว่าสารกำจัดแมลงในกลุ่มออร์การ์โนคลอรีน คือ สามารถย่อยสลายได้ โดยสิ่งมีชีวิตและมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า
แต่มีความเป็นพิษค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสารกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมท เช่น คลอไพริฟอส (chlorpyrifos) ไดโควอส (dichlovos) และ DDVP
พบในสเปรย์กำจัดยุงและแมลงสาบ สเปรย์กำจัดปลวก มด มอด ส่วนมาลาไธออน (malathion) พบในยากำจัดหมัด
3. สารกลุ่มคาร์บาเมท (Carbamate) เป็นสารกำจัดแมลงที่เป็นพิษต่อมนุษย์ค่อนข้างต่ำ สลายตัวได้เร็ว จึงตกค้างในสิ่งแวดล้อม
ได้น้อยและสามารถใช้กำจัดแมลงได้เทียบเท่าสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์การ์โน ฟอตเฟต เช่น โปรพ็อกเซอร์ (Propoxur) หรือที่รู้จักกันในชื่อทาง
การค้าคือไบกอน คาร์บาริล (carbarly) ชื่อทางการค้าคือเซฟวินและคาร์โบฟูแรน (carbofuran) ชื่อทางการค้าคือฟูราดาน พบในสเปรย์กำจัดยุง
4. สารกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) เป็นสารกำจัดแมลงที่สังเคราะห์ขึ้นเลียนแบบธรรมชาติมีความไวทางชีวภาพสูง ทำให้ไม่มีพิษ
สะสมในร่างกาย จึงเกิดพิษต่อคนและสัตว์น้อยมาก เช่น เฟนวาเลท (fenvalate) พบในยากำจัดปลวก ไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) และ
เดลต้าเมทริน (deltamethrin) พบในชอคก์ขีดกำจัดแมลงคลาน สเปรย์กำจัดมด เป็นต้น
สารเคมีกำจัดแมลงสามารถเข้าสู่คนได้ 3 ทาง คือ
- ทางปาก โดยการกิน การดื่ม หรือโดยอุบัติเหตุ
- ทางการหายใจ โดยการสูดดมไอของสาร ซึ่งสารเคมีกำจัดแมลงบางชนิดอาจมีฤทธิ์กัดกร่อนทำลายเยื่อจมูกและหลอดลมได้
- ทางผิวหนัง โดยการสัมผัสหรือจับต้องสารเคมีกำจัดแมลง ทำให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังซึ่งหากผิวหนังมีบาดแผลจะทำให้สารพิษดูดซึมสู่ผิวหนังได้ดี โดยเฉพาะสารพิษที่อยู่ในรูปของเหลว สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดีและรวดเร็วกว่ารูปแบบอื่น
อาการที่เกิดจากการแพ้สารเคมีกำจัดแมลง
อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศรีษะและเมื่อยตามตัว แน่นหน้าอก หายใจหอบ มีอาการสั่น กล้ามเนื้อกระตุก มองเห็นภาพได้ลางเลือน ม่านตาหรี่
น้ำลายและเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อาจถ่ายอุจจาระและปัสสาวะโดยกลั้นไม่อยู่ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจชัก และหมดสติ
อาจหยุดหายใจ และถึงตายได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออก จากบริเวณที่มีสารเคมีกำจัดแมลง ถ้าสารเคมีกำจัดแมลงถูกผิวหนังให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีกำจัดแมลง ออก
รีบชำระร่างกายของผู้ป่วยให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ อย่าขัดถูผิวหนังเพราะจะทำให้สารพิษซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย ถ้าสูดดมสารเคมีกำจัดแมลงเข้า
ไปให้นำผู้ป่วยไปพักผ่อนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและอบอุ่น คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถ้าสารเคมีกำจัดแมลงเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ
ครั้ง นานประมาณ 15 นาที ห้ามใช้ยาล้างตา ในกรณีที่สารเคมีกำจัดแมลงเข้าปากให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ถ้าผู้ป่วยกินสารเคมีกำจัด
แมลงเข้าไปให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก หรือทำให้อาเจียนแต่ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่หมดสติและเป็นโรคหัวใจ การทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยให้ผู้ป่วย
รับประทานไข่ขาวดิบ ขนาดที่ใช้ คือ เด็ก 4 ฟองและผู้ใหญ่ 8 ฟอง และรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันทีพร้อมด้วยภาชนะบรรจุ และฉลากวัตถุมีพิษนั้น
การปฏิบัติตนเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้อยู่อาศัย และสัตว์เลี้ยง
อ่านฉลากข้างภาชนะบรรจุให้ ละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ ควรระมัดระวังในการเทหรือรินสารเคมีกำจัดแมลง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสทางผิวหนัง
ระหว่างฉีดพ่นควรสวมเครื่องป้องกันตัว เช่น สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ใส่ถุงมือหรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก อย่าฉีดพ่นในห้องที่มีเด็ก ผู้ป่วยผู้อยู่อาศัยและ
สัตว์เลี้ยง รวมทั้งในบริเวณที่มีอาหารและบริเวณที่มีเปลวไฟ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นในห้องที่มีอาหารต้องปิดครอบอาหารให้มิดชิด หรือนำออกนอก
บริเวณที่ใช้สารเคมี อย่าฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงภายนอกขณะที่ลมแรงหรือมีฝนตก ควรเก็บสารเคมีกำจัดแมลงที่ใช้ในบ้านให้ห่างไหลจากเด็ก
หรือเก็บไว้ในตู้ล๊อคที่ปลอดภัย หลังฉีดพ่นควรปิดห้องไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ละอองของสารเคมีกำจัดแมลงที่กระจายในอากาศบริเวณนั้น
เจือจางลง แล้วทำความสะอาดพื้นห้องเพื่อกำจัดสารเคมีที่ตกตามพื้น ควรล้างมือ ล้างหน้า อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังการฉีดพ่นสารเคมี
กำจัดแมลง สำหรับภาชนะบรรจุที่ใช้หมดแล้วควรฝังดิน
ด้วยเรื่องราวที่ผู้เขียนนำ รายละเอียดมาฝากผู้อ่านทั้งหมดนี้ คงจะเป็นเรื่องราวที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องใช้สารเคมีภายในบ้าน เรือนเป็น
ประจำ อาจจะเป็นเรื่องที่เคยได้ยิน และเคยปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการย้ำเตือนและเป็นการเฝ้าระวัง ไม่ให้อันตรายจากการใช้สาร
เคมีเกิดขึ้น และเพื่อให้ทราบถึงโทษของสารเคมีที่เราใช้กันด้วยความเคยชิน
สุดท้ายการใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นในแปลงของเกษตรกร หรือจะนำมาใช้เพื่อกำจัดแมลงภายในบ้านเรือน กรมวิชาการเกษตร
ได้มีนโยบาย และเน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอดว่า การที่จะเลือกใช้สารเคมีอยากให้เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้ เนื่องจากการ
ใช้สารเคมีจะเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดจะส่งผลถึงตัวผู้ใช้นั่นคือเกษตรกรนั่นเอง การที่จะเลือกใช้สารเคมี
เพื่อการใดก็ตาม เราควรศึกษาให้ดีถึงข้อควรปฏิบัติ เพื่อที่เราจะได้เป็นผู้ที่เรียกได้ว่า เป็นผู้ที่รู้เท่าทันอันตราย… จากการใช้สารเคมี